ชาวชุมชนคลองตาเจี่ย สืบสานการละเล่น “หมากรุกคน” ประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ กว่า 80 ปี ใช้คนจริงเดินตามกระดานของคนเล่นข้างสนาม
เมื่อเวลา 18.00 น.ของวันที่ 14 เมษายน 2566 ที่บริเวณลานหน้าวัดราษฎร์บำรุง หรือวัดคลองตาเจี่ย ต.บางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ชาวชุมชนคลองตาเจี่ย สืบสานการละเล่น “หมากรุกคน” ประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ ที่มีมานาน กว่า 80 ปี ถือว่าเป็นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะคนที่เล่นมาจากคนในชุมชนจริงๆ และมีการสืบทอดรุ่นต่อรุ่นจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งชุมชนแห่งนี้ จะมีการจัดละเล่นหมากรุกคนเป็นประจำทุกปีในวันที่ 14 เม.ย. โดยในปีนี้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านต่างมาจับจองพื้นที่เข้าชม โดยจะมีผู้เล่นหมากรุก 2 คน นั่งประจำกระดานหมากรุก เตรียมเดินตัวหมากรุก ผู้เล่นอีก 32 คน แต่งกายแบบทหารโบราณ แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 16 คน เครื่องแต่งกายคนละสี ศีรษะสวมหัวแสดงให้รู้ว่าเป็นขุน โคน ม้า เรือ หรือเบี้ย ขัดตารางบนพื้น เมื่อผู้เล่น เดินหมากรุกตัวใดบนกระดานไปตาไหน จะมีคนพากย์ทางไมโครโฟน ให้หมากรุกคนเดินเหมือนตัวหมากรุกไปตานั้น วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงให้เหมาะสม กับลีลาและศักดิ์ศรีของหมากรุกตัวนั้น หากหมากรุกตัวใดถูกฝ่ายตรงข้ามกิน หมากรุกตัวนั้น ต้องออกจากการเล่น เล่นกันไปจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจน
โดยผู้เล่นหมากรุกคน ทั้ง 32 คน จะประกอบไปด้วยขุนหรือตัว แม่ทัพ 1 ตัว โคนเปรียบเสมือนทหารเอกคู่ใจหรือ รองแม่ทัพ 2 ตัว เม็ด เปรียบเสมือนทหาร หน่วยทะลวงฟัน 1 ตัว ยานพาหนะ ม้า 2 ตัว และ เรือ 2 ตัว นอกจากนี้ยังมีเบี้ยซึ่งเปรียบเสมือนพลทหารราบลุยเป็น กองทัพหน้าอีก 8 ตัว ทั้งหมดบนกระดานมีฝ่ายละ 16 ตัว “คนที่แสดงเป็นหมากจะอยู่ในชุดแตกต่างกันตามแต่ละหน้าที่ และเพื่อให้แยกความต่างของทั้ง 2 ฝ่าย บางครั้งจึงมีการสมมุติให้ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายไทย ส่วนอีกฝ่ายนั้นแล้วแต่จะเลือกประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีลักษณะการแต่งกาย การต่อสู้ เพลงที่ใช้สำเนียงแต่ละชาติแตกต่างง่าย สำหรับผู้ชมสามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน””ม้าถือเป็นตัวสร้างสีสันเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากคนดูได้ทุกครั้งที่แสดงท่าทาง ส่วนหมากตัวอื่นเป็นเรื่องของท่ารำ ม้าไปกำกับธรรมชาติไม่ได้ ปล่อยไปตามท่าทางตามธรรมชาติ ผู้แสดงต้องระลึกอยู่เสมอว่าขณะอยู่บนตารางสวมวิญญาณความเป็นม้า เพราะฉะนั้นจะแสดงท่าทางอย่างไรก็ได้ให้อยู่ในท่าทางตามธรรมชาติของม้า ไม่ว่าจะร้องเป็นเสียงม้า แสดงท่าทางดีดกะโหลกแบบม้า ท่ารำ และเพลงของม้าที่ใช้แฝงความสนุกอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว
ส่วนอรรถรสของการแสดงมองไปที่การต่อสู้” ในหมากรุกเวลาจะกินกันนิยมบรรเลงด้วยเพลงเชิด นอกจากนี้ยังนำเอาอาวุธกระบี่กระบองมาใช้ในการต่อสู้ ฝ่ายถูกกินเป็นฝ่ายต้องตาย นิยมใช้เพลงโอดบรรเลงช่วงที่ตัวหมากตาย ซึ่งการละเล่นหมากรุกคน ของชุมชนคลองตาเจี่ย ถือว่าเป็นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะคนที่เล่นมาจากคนในชุมชนจริงๆ ซึ่งบรรยากาศการละเล่น “หมากรุกคน” ในครั้งนี้ สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับชาวบ้านได้มีความสุขกัน ในวันปีใหม่ไทย